โรคลมชัก ในน้องหมา
โรคลมชักในน้องหมา เกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ บางสาเหตุอาจเกิดจากความผิดปกติของสมองโดยตรง เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคลมบ้าหมู โรคสมองอักเสบ โรคเนื้องอกในสมอง หรือสมองได้รับการกระทบกระเทือน หรือความผิดปกติของระบบร่างกายอื่นๆ ที่ส่งผลมายังสมอง เช่น การได้รับสารพิษ โรคตับวาย โรคไตวาย ภาวะน้ำตาลต่ำ ถาวะแร่ธาตุแคลเซียมต่ำ โรคพยาธิต่างๆ โรคลมชักในน้องหมา อาจจะพบเห็นได้หลายแบบ ได้แก่ พบเพียงครั้งเดียวแล้วหายไป เกิดการชักซ้ำภายใน 24 ชั่วโมง หรือเกิดการชักต่อเนื่องไม่หยุด ซึ่งการชักต่อเนื่องไม่หยุดนี้ ถือเป็นภาวะฉุกเฉินต้องรีบแก้ไขและรีบพาสัตว์เลี้ยงไปพบสัตวแพทย์โดยด่วน
อาการโรคลมชัก ในน้องหมา
อาการลมชักจะมีหลายรูปแบบ โรคลมชักมักแสดงอาการคือชักทั้งตัว ล้มลงไปนอนไม่มีสติ มีอาการเกร็ง กระตุก ขาตะกายเหมือนปั่นจักรยาน อาจจะมีอุจจาระราดแบบไม่รู้ตัว หรือ มีปัสสาวะราดร่วมด้วย อาการชักมีหลายรูปแบบแตกต่างกันไปโดยเบื้องต้นให้ผู้เลี้ยงเข้าใจได้โดยง่ายโดยการสังเกตว่าอาการชัก อาจมีการเตือนโดยสัตว์อาจแสดงอาการมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป บางตัวหลบซ่อนตัว หอน ร้องคราง ตัวสั่น น้ำลายไหลมาก หรือดุขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งเตือนเจ้าของ แต่ระยะช่วงก่อนนี้ สัตว์อาจแสดงอาการนานเพียงไม่กี่วินาที
สาเหตุของการเกิดลมชัก มี 4 ข้อดังนี้
1.การเกิดลมชักจากความผิดปกติของสมอง
เป็นการชักที่เกิดขึ้นจากโรคหรือความผิดปกติของโครงสร้างของสมองทำให้เกิดจุดลมชักหรือจุดไฟฟ้ารั่วจากตรงตำแหน่งของสมองที่มีความผิดปกติ เช่น
- เนื้องอกในสมอง
- โรคสมองอักเสบ
- โรคหัวบาตร หรือโรคโพรงน้ำในสมองขนาดใหญ่
- โรคสมองเสื่อม หรืออัลไซเมอร์
- ภาวะสมองกระทบกระเทือน
- โรคสมองขาดเลือด
2.การเกิดลมชักจากพันธุกรรม
เป็นลมชักที่เกิดขึ้นจากการมีความผิดปกติของพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของสารสื่อประสาทในสมอง เช่น
- บีเกิล
- ไซบีเรียน ฮัสกี้
- ลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์
- โกลเดน รีทรีฟเวอร์
- พูเดิล
- เยอรมัน เชพเพิร์ด
- มิเนเจอร์ ชเนาเซอร์
3.การเกิดลมชักจากโรคหรือความผิดปกติจากภายนอกสมอง
การชักจากโรคหรือความผิดปกติจากภายนอกสมองเป็นการชักที่เกิดขึ้นจากความผิดปกตินอกสมองแต่ส่งผลทำให้เกิดจุดลมชักหรือไฟฟ้ารั่วในสมองตามมา เช่น
- การเกิดภาวะตับวาย
- การเกิดภาวะไตวาย
- การเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
- การเกิดภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำจากการให้นมลูก
- การได้รับสารพิษจากยาฆ่าแมลง
4.การเกิดลมชักที่ยังไม่ทราบสาเหตุ
การชักที่ยังไม่ทราบสาเหตุนี้สามารถพบได้ในกรณีต่าง ๆ เช่น
- การเกิดลมชักในสายพันธุ์สุนัขที่ยังไม่มีรายงานถึงการเกิดลมชักจากพันธุกรรม ซึ่งความผิดปกติทางพันธุกรรมนั้นยังไม่มีการศึกษายืนยันอย่างชัดเจน
- การชักในสุนัขที่มีโรคในสมองแต่ผลการตรวจระบบประสาทยังพบว่าปกติและยังไม่ได้รับการวินิจฉัยด้วยการสแกนสมองด้วย MRI หรือ CT-scan รวมทั้งการเจาะตรวจน้ำไขสันหลัง
แนวทางการรักษา
- หมั่นสังเกตอาการของสุนัขบ่อย ๆ
- ป้อนยาให้ตรงเวลาสม่ำเสมอ
- หมั่นพาสุนัขไปตรวจประเมินสุขภาพและติดตามอาการอย่างเป็นประจำ
โรคลมชักนั้นเป็นโรคที่ใช้เวลานานในการรักษา บางรายอาจต้องได้รับยากันไปตลอดชีวิต ซึ่งเป้าหมายของการควบคุมการชักนี้ ก็อาจไม่ได้ทำให้อาการชักหายขาด แต่หากอาการชักเกิดในระดับที่ยอมรับได้ ก็ถือว่าประสบผลสำเร็จในการรักษาแล้ว ซึ่งความสำเร็จของการระงับชักนั้นอาจหมายถึง ความถี่ของการชักลดลง ความรุนแรงของการชักลดลง ระยะเวลาในการชักสั้นลง ซึ่งเหล่านี้ก็เป็นการช่วยให้คุณภาพชีวิตของน้องหมาที่ป่วยดีขึ้นค่ะ