โรคเอดส์แมวเกิดจากอะไร
โรคเอดส์แมว หรือ Feline immunodeficiency virus มีชื่อเรียกสั้นๆว่า FIV สำหรับคนที่พึ่งเริ่มเลี้ยงน้องแมวอาจจะยังไม่คุ้นหูกับโรคนี้ว่าคือโรคอะไรกันนะ แต่สำหรับคนที่เลี้ยงน้องแมวมานานนั้น เป็นโรคที่รู้จักกันดีเลยทีเดียวเพราะโรคเอดส์แมวนั้นสามารถติดต่อกันได้ง่าย อันตราย และ น่ากลัวหากบ้านไหนที่เลี้ยงน้องแมวรวมกันหลายตัว ถ้าหากพบว่าตัวใดตัวหนึ่งเป็นโรคเอดส์แมวขึ้นมาละก็ ตัวที่เหลือก็มีโอกาศสูงมากที่จะติดโรคนี้
อาการของแมว ที่เป็นโรคเอดส์แมว
- ต่อมน้ำเหลืองมีการขยายเล็กน้อยถึงปานกลาง
- มีการอักเสบที่เหงือก ช่องปากหรือเนื้อเยื้อรอบๆฟัน
- มะเร็ง เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง เป็นมะเร็งที่พัฒนามาจากเนื้อเยื่อน้ำเหลืองที่ประกอบด้วยเซลล์ลิมป์โฟไซต์ที่เป็นเม็ดเลือดขาวที่มาสร้างเป็นเนื้อเยื่อน้ำเหลืองทั่วร่างกาย
- มีอาการเป็นไข้ในช่วงระยะหลัง
- มีความผิดปกติทางระบบประสาทโดยจะไปขัดขวางกลไกการนอนหลับทำให้มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป
โรคเอดส์แมวติดต่อกัน ได้อย่างไร
โดยปกติแล้วเชื้อนี้สามารถพบได้ใน น้ำในไขสันหลัง เลือด หรือน้ำลาย ของแมวที่ติดเชื้อ ดังนั้นการติดต่อจึงมักจะมาจากการกัด การต่อสู้กันเป็นส่วนใหญ่ รวมถึงการได้รับเลือดจากแมวที่มีเชื้อ นอกจากนี้สามารถติดต่อจากแม่สู่ลูกได้เช่นกัน
คนเลี้ยงมีโอกาสติดเชื้อเอดส์จากแมว ได้หรือไม่
ไวรัสนี้มีความจำเพาะกับแมวเท่านั้น แม้จะเป็นเชื้อไวรัสในกลุ่มเดียวกันแต่ก็ติดข้ามสายพันธุ์กันไม่ได้จึงสบายใจได้ว่าเอดส์แมวไม่ติดคน รวมถึงไม่ติดต่อไปยังสัตว์เลี้ยงอื่นด้วย นอกจากตระกูลแมวด้วยกันเอง
การรักษาแมว เป็นโรคเอดส์
ในแมวที่มีการติดเชื้อตามธรรมชาติมักไม่พบอาการที่รุนแรง หากได้รับการดูแลที่ดีแมวที่ติดเชื้อสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้หลายปีจนหมดอายุขัย การรักษาจะเป็นการรักษาเพื่อพยุงอาการ ร่วมกับการจัดการ ให้อาหารที่มีคุณภาพดี และอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่สบาย แนะนำให้ทำหมันเพื่อป้องกันความเครียดในช่วงเป็นสัด
สำหรับน้องแมวที่ป่วยเป็นโรคเอดส์แมว สามารถมีอายุที่ยืนยาวได้ และ มีสุขภาพที่แข็งแรงได้ จากการเลี้ยงดูของเจ้าของที่ให้ความรักความเอาใจใส่น้องแมว เช่นการพาน้องแมวไปตรวจสุขภาพ รวมไปถึงการทำวัคซีน และ การทำหมัน เพื่อลดความเครียดในน้องแมวที่เครียดจากความต้องการที่จะผสมพันธุ์ และหนีออกนอกบ้านไป อีกทั้งยังลดความเสี่ยงของโรคต่างๆที่จะเกิดขึ้นในน้องแมวอีกด้วย นอกจากนี้ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพจากสัตวแพทย์เป็นประจำรวมถึงการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดต่ออื่นๆ ยกเว้นในรายที่ป่วยอยู่ในระยะสุดท้าย เนื่องจากร่างกายจะไม่สามารถสร้างภูมิต้านทานใดๆได้แล้ว