แมวกินยาพารา ได้ไหม ทาสแมวควรรู้ ห้ามให้แมวกินยาพาราเซตามอล
ยาพาราเซตามอลเป็นยาสามัญที่มีติดเอาไว้แทบทุกบ้าน เนื่องจากการเจ็บป่วยไม่สบายเป็นเรื่องที่พบเห็นได้ง่ายกว่าการเป็นโรคอื่นๆ รวมถึงอาการเบื้องต้นอย่างการเป็นไข้การกินยาพาราเซตามอลสามารถช่วยให้เราบรรเทาจากอาการเหล่านั้นได้ แต่ว่ายาเหล่านี้ก็มีข้อจำกัดในการใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้กับสัตว์เลี้ยงอย่างน้องแมว คุณรู้หรือไม่ว่าแมวกินยาพาราเซตามอลเข้าไปอาจทำให้เสียชีวิตได้เลยนะหากรักษาไม่ทัน
อาการของแมวกินยาพาราเซตามอล
น้องแมวที่กินยาพาราเข้าไปจะมีอาการน้ำลายฟูมปาก อาเจียน ซึม หายใจลำบาก เหงือกมีสีคล้ำ อุ้งมือบวม อุ้งเท้าบวม หน้าบวม และเบื่ออาหาร หลังจากนั้นตับของน้องแมวจะถูกทำลาย ปัสสาวะออกมาอาจมีสีคล้ำเนื่องจากเซลล์เม็ดเลือดแดงถูกทำลาย มีอาการดีซ่านออกมาให้เห็น ชัก และเสียชีวิตได้ภายใน 18-36 ชั่วโมง แต่หากนำน้องไปพบสัตวแพทย์ก่อน 4 ชั่วโมงหลังกินยาเข้าไป สัตวแพทย์จะทำให้น้องแมวอาเจียนออกมาโดยการฉีดยา ล้างท้อง หรือใช้ยาที่สามารถดูดซับสารพิษออกมาได้
แอสไพริน
แอสไพริน หรือ ยาแก้อักเสบ เป็นยาที่นิยมรองลงมาจากยาพารา ที่เป็นยาแก้ปวดลดไข้ มีความปลอดภัยต่อคน แต่ในน้องแมวนั้นหากได้รับยาแอสไพรินที่ไม่ถูกต้องก็จะส่งผลให้เกิดพิษร้ายแรงมาก และ ทำให้น้องแมวที่ได้รับยาเข้าไปมีอาการระคายเคืองกระเพาะอาหาร มีเลือดออก เลือดไหลไม่หยุด หรือการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร และในรายที่หนัก อาจจะส่งผลให้เกิดไตวายได้เลยค่ะ
ไอบูโปรเฟน
ไอบูโปรเฟน เป็นยาใกล้เคียงกับแอสไพริน คือช่วยบรรเทาอาการปวด ลดไข้ และเมื่อน้องหมาได้รับตัวยาชนิดนี้เข้าไป ผลที่ตามมาก็คือ เกิดผลกระทบในการไหลเวียนของเลือด และขัดขวางการผลิตสารที่ช่วยป้องกันเยื่อบุในกระเพาะอาหาร อาการข้างเคียงที่น้องแมวได้รับยาเข้าไปจะมีอาการ คลื่นไส้ อาเจียน เกิดแผลในกระเพาะอาหาร ไตวายเฉียบพลัน ชัก และ เสียชีวิตได้
การรักษาของสัตวแพทย์ กรณีแมวกินยาคนเข้าไป
- ถ้าแมวกินพาราเซตามอลยังไม่เกิน 4 ชั่วโมง สัตวแพทย์อาจทำให้แมวอาเจียนโดยการฉีดยาให้อาเจียน หรือ อาจล้างท้อง หรือ ให้ยาที่ดูดซับสารพิษ เช่น อุลตร้าคาร์บอนเป็นต้น
- การให้ยาต้านพิษพาราเซตามอล ซึ่งตัวยานี้ราคาค่อนข้างสูง ร่วมกับการให้ วิตามิน C
- การให้สารน้ำเข้าสู่เส้นเลือด
- การให้ออกซิเจนกรณีแมวหอบมากๆ
- แมวควรอยู่ในความดูแลของสัตวแพทย์อย่างน้อย 2-3 วัน
สุดท้ายนี้อยากฝากถึงเจ้าของแมวทุกท่านด้วยว่ายาที่ใช้ในคนกับแมวบางครั้งอาจเป็นยาตัวเดียวกัน บางครั้งแมวอาจใช้ได้ไม่เหมือนคน ดังนั้นหากคิดว่าถ้าแมวป่วยควรไปพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจรักษา ไม่ควรให้ยาน้องแมวเอง เพราะจากอาการที่น้องแมวเป็นน้อยๆ อาจจะส่งผลถึงแก่ชีวิตน้องแมวได้อีกด้วย